วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555

การเรียนแบบแก้ปัญหา

การเรียนแบบแก้ปัญหา 
              หมายถึง การจัดการเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหาเป็นการจัดประสบการณ์ที่ส่งเสริมพัฒนาการของผู้เรียนแต่ละช่วงวัย ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนมีการพัฒนาการได้เร็วขึ้น ผู้เรียนจะสามารถเลือกรับรู้สิ่งที่สนใจและเกิดการเรียนรู้จากกระบวนการค้นพบด้วยตนเอง
การจัดการเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหา มีลักษณะเด่น ดังนี้
          การจัดการเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหา มีลักษณะเด่นคือผู้เรียนเป็นผู้ปฏิบัติกิจกรรม มีชิ้นงานที่เป็นรูปธรรม ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนและเพื่อน ได้พัฒนาทักษะการคิดแก้ปัญหา และตระหนักรู้ในปัญหาที่อาจเกิดขึ้น สามารถใช้ทักษะการคิดแก้ปัญหาที่พบ การจัดกรเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหามีความสำคัญต่อการเรียนรู้เป็นอย่างมากเพราะเป็นการเรียนรู้จากปัญหาของชีวิตและมีความหมายต่อผู้เรียน ผู้เรียนได้ฝึกคิดด้วยตนเอง จากสถานการณ์หรือปัญหาที่น่าสนใจท้าทายให้คิดกระบวนการเรียนรู้ช่วยพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียนอย่างเป็นลำดับขั้นตอน โดยผ่านการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์การจักการเรียนรู้ใช้วิธีการที่หลากหลาย เช่น บทบาทสมมติ โครงงานการสืบสวย สอบสวน การศึกษานอกสถานที่ การเรียนรู้รูปแบบนี้จะกระตุ้นความสนใจของผู้เรียนให้ตั้งใจเรียนมากขึ้น พร้อมกับการเห็นประโยชน์ของการเรียนรู้ สร้างนิสัยใฝ่รู้รักการค้นคว้าหาความรู้และฝึกนิสัยให้เป็นคนมีเหตุผล และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

ลำดับขั้นตอนการเรียนรู้มี 3 ขั้นตอน คือ
          1. เรียนรู้จากการกระทำ คือ การเรียนรู้แบบลงมือกระทำ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญ ในการพัฒนาเด็ก การเรียนรู้แบบลงมือกระทำจะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดในโปรแกรมที่พัฒนาเด็กอย่างเหมาะสมกับพัฒนาการ การเรียนรู้แบบลงมือกระทำหมายถึงการเรียนรู้ซึ่งเด็กได้จัดกระทำกับวัตถุ ได้มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคล ความคิดและเหตุการณ์ จนกระทั้งสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง องค์ประกอบของการเรียนรู้แบบลงมือกระทำได้แก่ การเลือกและการตัดสินใจ สื่อ การใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ภาษาจากเด็ก และการสนับสนุนจากผู้ใหญ่
          2.  เรียนรู้จากความคิด คือ กระบวนการคิดของสมองซึ่งมีความสามารถในการคิดได้หลากหลายและแปลกใหม่จากเดิม โดยสามารถนำไปประยุกต์ทฤษฎี หรือหลักการได้อย่างรอบคอบและมีความถูกต้อง จนนำไปสู่การคิดค้นและสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่แปลกใหม่หรือรูปแบบความคิดใหม่ นอกจากลักษณะการคิดสร้างสรรค์ดังกล่าวนี้แล้ว ยังมีสามารถมองความคิดสร้างสรรค์ในหลาย ซึ่งอาจจะมองในแง่ที่เป็นกระบวนการคิดมากกว่าเนื้อหาการคิด โดยที่สามารถใช้ลักษณะการคิดสร้างสรรค์ในมิติที่กว้างขึ้น เช่น การมีความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน การเรียน หรือกิจกรรมที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ด้วย อย่างเช่น การทดลองทางวิทยาศาสตร์  หรือการเล่นกีฬาที่ต้องสร้างสรรค์รูปแบบเกมให้หลากหลายไม่ซ้ำแบบเดิม เพื่อไม่ให้คู่ต่อสู่รู้ทัน เป็นต้น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นลักษณะการคิดสร้างสรรค์ในเชิงวิชาการ แต่อย่างไรก็ตาม ลักษณะการคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ที่กล่าวนั้นต่างก็อยู่บนพื้นฐานของความคิดสร้างสรรค์ โดยที่บุคคลสามารถเชื่อมโยงนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ดี
          3.  เรียนรู้สัญลักษณ์และนามธรรม

ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหา  มี  5  ขั้นตอน  คือ
            1.  ขั้นกำหนดปัญหา  ผู้สอนหรือผู้เรียนอาจร่วมกันหยิบยกปัญหาหรือประเด็นที่น่าสนใจมาเสนอต่อกลุ่มผู้เรียน ปัญหาที่นำมาใช้ในบทเรียนอาจได้มาจากแหล่งต่าง ๆ เช่น ภาพเหตุการณ์ การสาธิต การเล่าเรื่อง การให้ดูภาพยนตร์ สไลด์ การทายปัญหา เกม ข่าว เหตุการณ์ประจำวันที่น่าสนใจ การสร้างสถานการณ์/บทบาทสมมติ ของจริง หรือสถานการณ์จริง
            2.  ขั้นตั้งสมมติฐาน สมมติฐานจะเกิดขึ้นได้จากการสังเกต การรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง และประสบการณ์เดิม จนสามารถนำมาคาดคะเนคำตอบของปัญหาอย่างมีเหตุผล
            3.  ขั้นเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นขั้นตอนของการรวบรวมข้อมูลจากการอ่าน การสังเกต การสัมภาษณ์ การสืบค้นข้อมูลด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่หลากหลายหรือทำการทดลอง มีการจดบันทึกข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อนำไปวิเคราะห์ข้อมูลให้ได้คำตอบของปัญหาในที่สุด
            4.  ขั้นวิเคราะห์ข้อมูล เป็นขั้นตอนนำเสนอข้อมูลที่ได้จากการสืบค้นหรือทำการทดลองนำมาตีแผ่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีการอภิปราย ซักถาม ตอบคำถาม แสดงความคิดเห็น โดยมีผู้สอนคอยช่วยเหลือ และแนะนำ อันจะนำไปสู่การสรุปข้อมูลในขั้นตอนต่อไป
            5.  ขั้นสรุปและประเมินผล เป็นขั้นสุดท้ายของกระบวนการเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหาเป็นการสรุปข้อมูลที่ได้จากแหล่งต่าง ๆ แล้วสรุปผลการเรียนรู้ หลังจากนั้นผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ อย่างหลากหลาย และนำผลการประเมินไปใช้การพัฒนาผู้เรียนต่อไป

บทบาทของผู้สอน
          บทบาทของผู้สอนในการจัดการเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหา มีดังนี้
            1.  กำหนดสถานการณ์หรือเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นปัญหาในชีวิตประจำวัน เลือกปัญหาที่ตรงกับความสนใจของผู้เรียนเป็นปัญหาที่ใกล้ตัวผู้เรียน
            2.  รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ แหล่งเรียนรู้ภายในและภายนอกห้องเรียน
            3.  กำหนดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างเป็นขั้นตอน
           4.  ให้คำแนะนำ/คำปรึกษา และช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้เรียนในการแสวงหาแหล่งข้อมูล การศึกษาข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้เรียน
            5.  กระตุ้นให้ผู้เรียนแสวงหาทางเลือกในการแก้ปัญหา ที่หลากหลายและเหมาะสม
            6.  ติดตามการปฏิบัติงานของผู้เรียนและให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด
            7.  ประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยพิจารณาจากผลงาน กระบวนการทำงาน และคุณลักษณะอันพึงประสงค์
            8  สร้างบรรยากาศในห้องเรียนให้เป็นประชาธิปไตย เพื่อให้ผู้เรียนกล้าแสดงออกด้านความคิดเห็นและแสดงออกด้านการกระทำที่เหมาะสม

บทบาทของผู้เรียน
            บทบาทของผู้เรียนในการจัดการเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหา มีดังนี้
          1. ร่วมกันเลือกปัญหาที่ตรงกับความสนใจของตนเองหรือของกลุ่ม
          2. เผชิญกับสถานการณ์ปัญหาจริง ๆ หรือสถานการณ์ที่ผู้สอนจัดให้
          3. วางแผนการแก้ปัญหาร่วมกัน
          4. ศึกษาค้นคว้าและแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง
          5. ลงมือแก้ปัญหา รวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ข้อมูล สรุปและประเมินผล

ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับใช้
            การจัดการเรียนรู้ แบบกระบวนการแก้ปัญหาเป็นกระบวนการที่ผู้สอนต้องศึกษาและหาวิธีการที่จะกระตุ้นให้ผู้เรียนร่วมคิดวิเคราะห์ประเด็นปัญหาและคิดหาแนวทางการแก้ปัญหานั้น ๆ ด้วยวิธีที่หลากหลายซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ด้านทักษะ กระบวนการและคุณลักษณะอันพึงประสงค์

ข้อดีของกระบวนการเรียนรู้แบบแก้ปัญหา
                   1. การเสนอปัญหาที่ผู้เรียนสนใจจะทำให้เกิดความกระตือรือร้นในการเรียน ทำให้บทเรียนหรือการเรียนในชั่วโมงนั้น ๆ มีความหมายและมีคุณค่าต่อผู้เรียน
            2.  การเสนอปัญหาให้ผู้เรียนขบคิดเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนฝึกฝนความสามารถในการแก้ปัญหา การคิดอย่างมีระบบ  มีความคิดสร้างสรรค์ และมีการตัดสินใจที่ดี
            3.  การเรียนโดยมีวิธีการแก้ปัญหาจะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนใช้ข้อมูลความรู้ที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการแก้ปัญหาทำให้สามารถจำบทเรียนได้ดีด้วย
            4.  การนำวิธีการแก้ปัญหามาใช้ในการสอนแบบกลุ่มจะทำให้ผู้เรียนมีโอกาสทำงานร่วมกันในบรรยากาศแบบประชาธิปไตย
            5.  ทักษะที่ได้จากการแก้ปัญหา เช่น การเผชิญปัญหา การหาแนวทางในการแก้ปัญหา การตัดสินใจ ฯลฯ จะเป็นประโยชน์การนำไปใช้ในชีวิตจริงทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

ข้อจำกัดของกระบวนการเรียนรู้แบบแก้ปัญหา
            1.  ผู้เรียนจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ ถ้าผิดไปก็จะทำให้ได้ผลสรุปที่คาดเคลื่อนหรือผิดความจริงไป
            2.  ผู้เรียนจะต้องมีทักษะในการค้นคว้าข้อมูลซึ่งถ้าขาดทักษะนี้แล้วก็จะทำให้ไม่ได้ข้อมูลเพียงพอที่จะสรุป
            3.  ผู้สอนบางท่านอาจไม่คุ้นเคยกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และเมื่อดำเนินการสอนก็อาจนำไปผิดทางได้
            4.  การกำหนดปัญหาที่นำมาสอนนั้นมีความยากลำบากมาก ถ้าเลือกปัญหาไม่ดีก็จะทำให้การเรียนการสอนน่าเบื่อหน่ายได้

ตัวชี้วัดกระบวนการเรียนรู้แบบแก้ปัญหา
            1.  ผู้สอนและผู้เรียนมีการร่วมกันวิเคราะห์ และเลือกปัญหาเพื่อการศึกษา
            2.  ให้ผู้เรียนมีโอกาสทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม เพื่อวางแผนงานการแก้ปัญหา
            3.  อาจารย์ให้คำแนะนำเกี่ยวกับแหล่งข้อมูล จัดหาวัสดุและเอกสารที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนในการเรียนรู้และการแก้ปัญหา
            4.  ผู้เรียนมีโอกาสแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง
         
ตัวอย่างการจัดการเรียนแก้ปัญหา
          กรณีศึกษา จากการศึกษาการจัดการเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหาของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  โรงเรียนธารทองพิทยาคม จังหวัดบุรีรัมย์ โดยให้นักเรียนได้จัดการเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหาจากประสบการณ์จริง นักเรียนได้ร่วมกันสรุปประโยชน์จากการศึกษาทำให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ และเกิดความสนุกสนานในการเรียน ได้ร่วมกันทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ ได้ลงมือปฏิบัติจริง และยังทำให้เกิดการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น ได้รับความรู้ ได้คิด ได้ปฏิบัติจริงและแก้ปัญหาอย่างมีระบบ (มีการพัฒนากระบวนความคิดอย่างมีระบบ) ทำให้เกิดความรู้อย่างแท้จริงเรียนรู้อย่างมีความหมาย

สรุป
            การจัดการเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหา เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่มีความสำคัญมากในยุดปัจจุบัน กระบวนการแก้ปัญหา เป็นการแก้ปัญหาเพื่อฝึกนักเรียนได้มอง วิเคราะห์ หัดสังเกตในประเด็นสาระต่าง ๆ ที่ครูได้ดำเนินการจัดการเรียนรู้ และหัดคิด หัดสร้าง กระบวนการคิดการแก้ปัญหาอย่างมีระบบนั้น มีข้อสำคัญหรือขั้นตอนที่สำคัญคือขั้นระบุปัญหา ขั้นที่เรียกว่านักเรียนเองจะได้ใช้ความคิด วิเคราะห์ ใช้วิจารณญาณในการศึกษา สำรวจหาข้อมูล แล้วมาสร้างโจทย์ว่าจะดำเนินการคิดแก้ปัญหาในประเด็นอะไร จากนั้นนักเรียนเองจะหาทางแก้ปัญหา ซึ่งในแนวทางการแก้ปัญหา ทางด้านการศึกษาเรียกว่า ขั้นตั้งสมมติฐาน นักเรียนจะดำเนินการค้นคว้าหาข้อมูล  ต่าง ๆ มาสร้างความสัมพันธ์ เพื่อให้คิดหาถึงสาเหตุและผลที่จะเกิดขึ้นในการคาดคะเนคำตอบ จากนั้นนักเรียนจะดำเนินการค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อที่จะดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นไปตามแนวทางของการตั้งสมมติฐาน และเมื่อได้หาความสัมพันธ์และนำข้อมูลต่าง ๆ มาสรุปเกิดองค์ความรู้ เป็นองค์ความรู้ที่เกิดจากการคิดแก้ปัญหาของนักเรียน นักเรียนจะสามารถสรุปองค์ความรู้ได้และมีเหตุผล เป็นการฝึกความคิดอย่างมีเหตุและมีผล  เป็นการฝึกคิดอย่างมีวิจารณญาณหรือเป็นการคิดวิเคราะห์ได้อีกอย่างหลากหลาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น